วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2551

ทีเด็ดการทำลายมัดย้อม

ทีเด็ดในการควบคุมลวดลายมัดย้อมนอกจากอุปกรณ์ต้องได้มาตรฐาน มีขนาดคงเส้นคงวา มีการพับแบบเดิมพับเมื่อไรก็ได้ตามรูปแบบนั้นแล้วก็จะช่วยให้ควบคุมลวดลายให้เหมือนเดิมได้ระดับหนึ่ง แต่ก็มีทีเด็ดอีกที่จะทำให้ได้ลวดลายที่ประณีตยิ่งขึ้นและสามารถควบคุมได้ในระดับหัตถศิลป์เลยทีเดียว นั่นก็คือ การเย็บ มีขั้นตอนคือ พับหรือไม่พับก็ได้แล้วเย็บให้เป็นลายที่ต้องการ และรูดเส้นด้ายสองด้านมาผูกกัน แล้วนำผ้าลงน้ำย้อมที่มีอุณหภูมิกำลังได้ที่
วิธีการนี้อาศัยความประณีตสูง และอาศัยหัตถศิลป์สูงทีเดียว ลองพลิกแพลงดูก็แล้วกัน

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2551

วิธีการมัดย้อมผ้า

งานวิจัยของเสาวนิตย์ กาญจนรัตน์ (2543) เรื่องการออกแบบลวดลายหัตถกรรมผ้ามัดย้อมด้วยสีเคมีและสีธรรมชาติ ได้ทดลองเทคนิคในการทำผ้ามัดย้อมด้วยวิธีการ 3 วิธีการดังนี้
1. การพับแล้วมัด กล่าวคือ เป็นการพับผ้าเป็นรูปต่างๆ แล้วมัดด้วยยางหรือเชือก ผลที่ได้จะได้ลวดลายที่มีลักษณะลายด้านซ้ายและลายด้านขวาจะมีความใกล้เตียงกัน แต่จะมีสีอ่อนด้านหนึ่งและสีเข้มด้านหนึ่ง เนื่องจากว่าหากด้านใดโดนพับไว้ด้านในสีก็จะซึมเข้าไปน้อย ผลที่ได้ก็คือจะมีสีจางกว่านั่นเอง
2. การขยำแล้วมัด กล่าวคือ เป็นการขยำผ้าอย่างไม่ตั้งใจแล้วมัดด้วยยางหรือเชือก ผลมี่ได้จะได้ลวดลายแบบอิสระ เรียกว่าลายสวยแบบบังเอิญ ทำแบบนี้อีกก็ไม่ได้ลายนี้อีกแล้ว เนื่องจากการขยำแต่ละครั้งเราไม่สามารถควบคุมการทับซ้อนของผ้าได้ ฉะนั้นลายที่ได้เป็นลายที่เกิดจากความบังเอิญจริงๆ เปรียบเทียบเหมือนกับการที่เราเห็นก้อนเมฆ ก้อนเมฆแต่ละก้อนจะมีลักษณะแตกต่างกัน และเมื่อผ่านสักครู่ลายหรือลักษณะของก้อนเมฆก็จะเปลี่ยนไป เราเรียกว่าลายอิสระ หรือรูปร่างรูปทรงอิสระนั่นเอง
3. การห่อแล้วมัด กล่าวคือ เป็นการใช้ผ้าห่อวัตถุต่างๆ ไว้แล้วมัดด้วยยางหรือเชิอก ลายที่เกิดขึ้นจะเป็นลายใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับวัตถุที่นำมาใช้ และลักษณะของการมัด เช่น การนำผ้ามาห่อก้อนหินรูปทรงแปลกๆ ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก แล้วมัดไขว้ไปมา โดยเว้นจังหวะของการมัดให้มีพื้นที่ว่างให้สีซึมเข้าไปได้ อย่างนี้ก็จะมีลายเกิดขึ้นสวยงามแตกต่างจากการมัดลักษณะวัตถุอื่นๆ ด้วย

หลักการสำคัญในการทำมัดย้อมคือ ส่วนที่ถูกมัดคือส่วนที่ไม่ต้องการให้สีติด ส่วนที่เหลือหรือส่วนที่ไม่ได้มัดคือส่วนที่ต้องการให้สีติด การมัดเป็นการกันสีไม่ให้สีติดนั่นเอง ลักษณะที่สำคัญของการมัดมีดังนี้
1. ความแน่นของการมัด
กรณีแรกมัดมากเกินไปจนไม่เหลือพื้นที่ให้สีแทรกซึมเข้าไปได้เลย ผลที่ได้ก็คือ ได้สีขาวของเนื้อผ้าเดิม อาจมีสีย้อมแทรกซึมเข้ามาได้เล็กน้อย อย่างนี้เกิดลายน้อย
กรณีที่สองมัดน้อยเกินไป เหลือพื้นที่ให้สีย้อมติดเกือบเต็มผืน อย่างนี้เกิดลายน้อยเช่นกัน ทั้งผืนมีสีย้อมแต่แทบไม่มีลายเลย
กรณีที่สาม มัดเหมือนกันแต่มัดไม่แน่น อย่างนี้เท่ากับไม่ได้มัดเพราะหากมัดไม่แน่นสีก็จะแทรกซึมผ่านเข้าไปได้ทั่วทั้งผืน
2. การใช้อุปกรณ์ช่วยในการหนีบผ้าแล้วมัด เพื่อให้เกิดความแน่น และเกิดลวดลายตามแม่แบบที่ใช้หนีบ ดังนั้นลายสวยเพียงใดขึ้นอยู่กับการออกแบบแม่แบบที่จะใช้หนีบด้วย
3. ความสม่ำเสมอของสีย้อม สีย้อมที่ติดผ้าจะสม่ำเสมอได้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิความร้อนขณะนำผ้าลงย้อม และการกลับผ้าไปมาการขยำผ้าเกือบตลอดเวลาของการย้อมหนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งก่อนที่จะแช่ผ้าไว้


เสาวนิตย์ กาญจนรัตน์ (2543) การออกแบบลวดลายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมผ้ามัดย้อมสีเคีมีและสีธรรมชาติ นครศรีธรรมราช : สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช.